ภาวะขาดไทรอยด์ หรือ ไฮโปไทรอยด์ ภัยเงียบจากการขาดฮอร์โมน

หลายโรคใกล้ตัวในปัจจุบันจะสังเกตได้ว่าเกิดมาจากการทำงานผิดปกติของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบภูมิต้านทาน หรือจะเป็นระบบการไหลเวียนโลหิต และหากพูดถึงระบบร่างกายที่ทำงานผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคร้าย ความสมดุลของฮอร์โมนจะเป็นอีกหนึ่งภัยใกล้ตัวที่หลายคนหลงลืมให้ความสำคัญ

ไฮโปไทรอยด์ หรือ ภาวะขาดไทรอยด์ (Underactive Thyroid) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีภาวะที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งทำให้ระบบร่างกายทำงานผิดปกติไปในอีกหลายส่วน ในบทความชิ้นนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ไฮโปไทรอยด์ ให้ดียิ่งขึ้น

วิธีสังเกตผู้ป่วยที่เป็น ไฮโปไทรอยด์

อาการของผู้ที่ป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ จะไม่ได้มีอาการทรุด หรือป่วยฉับพลัน แต่จะค่อย ๆ เริ่มมีอาการที่แทบจะสังเกตไม่ได้ ไปจนถึงขั้นรุนแรงต่อการทำงานโดยรวมของร่างกาย แต่อย่างไรก็ดีผู้ป่วยสามารถเริ่มสังเกตอาการของตัวเองได้ ดังนี้

  • อ้วนขึ้นแบบกะทันหัน
  • ใบหน้า แขน ขา บวม
  • เหนื่อยง่ายขึ้น หัวใจเต้นช้า
  • รู้สึกตัวช้า เฉื่อย
  • รู้สึกเพลียง่าย ง่วงนอนอยู่ตลอด
  • ท้องผูกอยู่บ่อยครั้ง
  • เหงื่อออกน้อย ต่อให้ทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานเยอะ แต่ก็จะไม่มีเหงื่อ
  • รู้สึกว่าตัวเองหนาวง่ายเป็นพิเศษ ทนหนาวไม่ได้
  • ผมร่วงบ่อย
  • ผิวหนังหยาบ กระด้าง
  • เล็บเปราะ ฉีก แตก หักง่ายกว่าแต่ก่อน
  • ขนคิ้วโดยเฉพาะช่วงหางคิ้วจะบางกว่าส่วนอื่น
  • ปวดตามข้อต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ความรู้สึกทางเพศลดลง
  • หากเกิดขึ้นในเด็ก จะทำให้การเจริญเติบโตได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ ในช่วงวัยเดียวกัน และทำให้สมาธิสั้น
  • หากเกิดขึ้นในผู้หญิง จะทำให้มีผลต่อการมาของประจำเดือน ในช่วงที่มีประจำเดือนจะมามากกว่าปกติ
  • หากเกิดขึ้นในผู้ชาย จะทำให้หัวนมตั้งขึ้น

อาการเหล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นของโรค ไฮโปไทรอยด์ หากคุณเริ่มรู้สึกตัวว่ามีโอกาสที่จะเข้าข่ายของภาวะขาดไทรอยด์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น และเพื่อหาทางรักษา

สาเหตุที่ทำให้เกิด ไฮโปไทรอยด์

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยกันว่า อะไรที่เป็นจุดชนวนที่ทำให้เกิดโรคไฮโปไทรอยด์ อาจจะต้องอธิบายให้เข้าใจถึงภาพรวมกันก่อนว่า ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนกับร่างกาย แน่นอนว่าการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ทำให้ร่างกายเสียสมดุล อีกทั้งยังทำให้กระบวนการเมตาบอลิซึมมีปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการเจาะลึกว่าด้วยสาเหตุใดบ้างที่ทำให้เกิด ไฮโปไทรอยด์

  • การรักษาด้วยรังสี

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งจะต้องทำการฉายรังสีบริเวณลำตัว หรือลำคอ และรังสีนี้นี่เองที่ทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ และส่งผลโดยตรงทำให้เกิด ไฮโปไทรอยด์ และทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ

  • การขาดธาตุไอโอดีน

ธาตุไอโอดีนจัดได้ว่าเป็นแร่ธาตุชนิดสำคัญที่ช่วยในการผลิตฮอร์โมนของร่างกาย และที่สำคัญคือร่างกายไม่สามารถที่จะผลิตแร่ธาตุนี้เองได้ แต่เราสามารถที่จะรับประทานอาหารเพื่อเสริมแร่ธาตุไอโอดีนได้ จากการรับประทานอาหารประเภท เกลือไอโอดีน อาหารทะเล สาหร่ายทะเล หรือปลาทะเล

  • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disease)

เป็นการทำงานของระบบร่างกายที่ผิดปกติ เนื่องจากร่างกายผลิตแอนติบอดี้ขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายตัวเอง และหนึ่งในระบบการทำงานของร่างกายที่ถูกทำลายไปด้วยคือ ต่อมไทรอยด์ และส่งผลให้การทำงานรักษาความสมดุลของฮอร์โมนเองก็เสียไปด้วย ตัวอย่างโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองที่มีผลกับต่อมไทรอยด์มากที่สุดคือ ไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis)

  • โรคแต่กำเนิด (Congenital Disease) 

เรียกได้ว่าเป็นการทำงานผิดปกติของร่างกายที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เพราะทารกบางคนก็เจอกับการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่เกิด โดยทางการแพทย์ใช้ชื่อโรคนี้ว่า โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism)

ดังจะสังเกตได้ว่านี่เป็นโรคที่ใกล้ตัวมากที่สุดโรคหนึ่ง และอาการข้อสังเกตเบื้องต้นที่อยู่ช่วงต้นของบทความก็ล้วนเป็นอาการที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่าลืมที่จะใส่ใจและให้เวลากับตัวเองเพื่อสังเกตอาการเข้าข่ายของโรค ไฮโปไทรอยด์ หรือภาวะขาดไทรอยด์กัน หากท่านใดที่พบว่าตัวเองมีความเสี่ยง ควรรีบปรึกษากับแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรักษา และจัดการกับปัญหาความไม่สมดุลของฮอร์โมน